Breaking News

4 อย่างที่ต้องเรียนรู้บนเส้นทาง Stock photo

4 อย่างที่ต้องเรียนรู้บนเส้นทาง Stock photo

4 อย่างที่ต้องเรียนรู้บนเส้นทาง Stock photo
**คำเตือน บทความยาวมาก แนะนำให้ลุกไปหาเครื่องดื่มเย็นๆสักแก้วมาจิบไปพลาง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม 555+

จากประสบการณ์ที่ทำ stock มาจนสามารถซื้ออิสรภาพให้กับตัวเองได้ บนองค์ความรู้ทั้งหลายแล้ว ผมสรุปสิ่งที่ผมได้เรียนรู้เอาไว้ทั้งหมด 4 อย่างด้วยกันครับ


1. ทำยังไงให้สอบผ่าน
2. ทำยังไงให้ภาพผ่าน
3. ทำยังไงให้ขายได้
4. ทำยังไงให้ขายดี

ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร ลองค่อยๆอ่านดูครับ เพราะแต่ละหัวข้อเรียกว่า เป็นจุดหมายของแต่ละขั้นที่จะพาให้พัฒนาไปได้เรื่อยๆ


ทั้งนี้ เนื้อหาที่กำลังจะกล่าวถึง จะไม่มีเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ ไม่มีเรื่องมุมกล้อง ไม่มีวิธีการทำงาน แต่เป็นแนวคิดที่จะเป็นรากฐานเพื่อให้ทุกคนสามารถเอาไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตัวเองและงานตัวเองได้ และเนื่องจากผมเติบโตมาจากสาย photo เป็นหลัก เนื้อหาที่จะอ้างอิงก็จะกล่าวถึงงาน photo เป็นหลักนะครับ

1. ทำยังไงให้สอบผ่าน

การส่งภาพสอบเป็นสิ่งที่ฟังดูแล้วน่ากลัว ทำให้คนหลายคน ไม่กล้าส่งสอบ เพราะไปติดภาพในหัวเหมือนว่าการส่งภาพสอบ มันเหมือนการสอบในห้องเรียน คือ “ไม่อยากสอบตก” ขอให้ลืมความรู้สึกเดิมๆนั้นไปให้หมด แล้วให้รับแนวคิดใหม่ ว่าเราแค่ส่งภาพไปให้เค้าดูว่าดีพอจะวางขายมั้ย ลืมคำว่าสอบไปซะ มันไม่มีความสำคัญ หรือนัยยะอะไรมากไปกว่านี้

เพิ่มเติมแนวคิดจิตวิทยาเล็กน้อย เพราะสิ่งที่คนเราเกลียดที่สุดอย่างหนึ่ง คือการถูกปฏิเสธ เวลาภาพที่ส่งไปแล้วเค้า “ไม่เอา” เราจะรู้สึกเหมือนเราถูกปฏิเสธเมื่อต้องเผชิญความรู้สึกนี้ คนที่มีอีโก้แรงอาจจะรับไม่ได้และถึงขนาดเลิกสอบไปเลย เพียงเพราะยึดมั่นในความสามารถตนเอง คนเก่งๆหลายคนเป็น แต่ถ้าเราข้ามความรู้สึกนี้ได้ การส่งภาพสอบจะเป็นเรื่องง่าย

แนวทางที่ผมแนะนำสำหรับการสอบ มีด้วยกัน 2 แนวทาง
a. เลือกภาพที่เราเคยถ่ายไว้ที่มีส่งไปเลย วิธีนี้เป็นการวัดฝีมือของเราไปในตัวว่านิสัยและคุณภาพการถ่ายภาพของเรานั้น เข้าข่ายงาน stock สักแค่ไหน
b. ศึกษาแนวภาพ stock โดยดูจากงานที่ส่งเข้าไปล่าสุด (sort by New) แล้วดูว่าเราจะถ่ายยังไงในแบบของเราให้ได้งานใกล้เคียงกัน วิธีนี้เป็นการฝึกแนวคิดภาพ stock และยังเป็นการเรียนรู้ด้วยว่าวันนี้เค้าส่งอะไรไปขายกันบ้าง

ประสบการณ์ในการสอบของผมนั้น ครั้งแรกผมส่งภาพที่เคยถ่ายไปครับ ตามแนวทาง a. ผลที่ออกมาคือตกหมด เพราะนิสัยการถ่ายภาพเดิมของเรานั้นคุณภาพไม่ถึงขั้นต่ำงาน stock ที่เค้าใช้กัน ครั้งต่อมาผมก็ถ่ายใหม่ทั้งหมด เป็นการถ่ายเพื่องาน stockโดยเฉพาะแต่ก็ยังไม่ผ่าน จนครั้งที่สามจึงผ่านมาได้

สอบผ่านเป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมดา เป็น motto ที่เหมาะมาก

2. ทำยังไงให้ภาพผ่าน ?


หลายคนอาจจะสงสัย ว่ามันต่างจากการสอบยังไง ? จากประสบการณ์ผม หลังจากสอบผ่านแล้ว การส่งภาพช่วงแรกๆนั้น ยังเป็นการส่งไปแล้วลุ้นจนตัวโก่งทุกครั้ง นั่นคือตัวชี้ให้เห็นว่า เรายังไม่แม่นมากพอที่จะมั่นใจว่าภาพเรานั้นน่าจะผ่านแน่ๆ

สิ่งแรกที่ผมมักจะแนะนำคนที่เพิ่งสอบผ่าน คือคัดภาพที่เราเคยถ่ายทั้งหมด ส่งไปให้เค้าตรวจ เหตุผลเหมือนการส่งสอบ ข้อ a. เป็นการเชคนิสัยการถ่ายภาพของเราเข้าขั้นงาน stock แค่ไหน ซึ่งผมเองก็ทำแบบนี้ และผลตอบรับคือภาพตกกว่า 90%

มันสะท้อนให้เห็น ว่าถ้าเรายังถ่ายภาพด้วยนิสัยเดิมๆ ผลออกมาก็ไม่ต่างกันแน่ๆ

เราจะได้เรียนรู้ถึงงานคุณภาพ “ผ่านขั้นต่ำสำหรับงาน stock” นั่นคือ เราต้องรู้ว่าจะควบคุมคุณภาพการถ่ายยังไง ปรับภาพยังไงให้ภาพมันดีพอ รู้เงื่อนไข มองภาพออกวิเคราะห์เป็น ว่ามีช่องโหว่ มีจุดด้อยตรงไหนที่จะทำให้ภาพไม่ผ่านได้

ขั้นตอนนี้จะเปลี่ยนนิสัยการถ่ายภาพของบางคนไปโดยสิ้นเชิง จากที่เคยถ่ายด้วย f 1.8 iso 800-1600 บ่อยๆ จะค้นพบว่า หลายๆครั้งคุณภาพมันไม่ถึงขั้นนต่ำที่ทาง agency ต้องการ

การศึกษาพื้นฐานการถ่ายภาพเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่รู้จักอุปกรณ์ของตัวเอง ทั้งกล้อง เลนส์ อุปกรณ์เสริมต่างๆ แฟลช ขาตั้ง เรียนรู้เรื่องแสง การจัดองค์ประกอบ เรื่องสี ฯลฯ

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการ ฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะครับ ยิ่งเราคิดมากทำมาก เราก็จะมีทักษะมาก ต้อง "คิด" ด้วยนะครับ เพราะถ้าทำๆไปโดยไม่คิดวิเคราะห์ จะพัฒนาช้า กลายเป็นเสียแรงเสียเวลาย่ำอยู่กับที่ การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆในการถ่ายภาพ ทำภาพ จะเป็นพัฒนาการที่สำคัญในการทำให้งานมีคุณภาพ เพราะภาพถ่ายที่ดีภาพหนึ่ง ประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆกัน ถ้าเราละเลยรายละเอียดหลายๆอย่างไป ก็จะเป็นการลดทอนคุณภาพงานลงไปตามส่วน

ผมมักจะตั้งธงแรกไว้ที่ 1,000 ภาพภายใน 1 ปี

สำหรับคนเพิ่งเริ่ม 1,000 ภาพแรกนี้คือเป็นการทำเพื่อเรียนรู้ ว่าจะทำยังไงให้ภาพเราผ่าน และยังไม่ต้องสนใจเรื่องการขายมากนัก เอาให้ผ่านได้ชัวร์ๆก่อนค่อยคิดเรื่องเงิน เพราะเราจะขึ้นไปทำงานขายดีได้อย่างไร ถ้าเรายังต้องมานั่งลุ้นว่าภาพจะผ่านไม่ผ่านอยู่

แล้วทำไมต้องภายใน 1 ปี ?

1000 ภาพภายใน 1 ปีถือว่าไม่เยอะ แต่กำหนดเวลาเพื่อให้มีการสร้างงานอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย ซึ่งมันคือแค่สัปดาห์ละ 20 ภาพเท่านั้น ตกวันละสามภาพเอง ผมจึงอยากแนะให้หัดหาอะไรมาถ่ายวันละ 5 ภาพทุกวัน เสาร์อาทิตย์ถ้าเวลาเยอะ ก็ทำให้มากขึ้น ทำไมให้ทำเยอะ ? เพราะมันจะมีวันที่เรายุ่ง ไม่ว่าง และไม่ได้ถ่ายเกิดขึ้นแน่ๆ เป็นการการันตีได้ว่าเราจะถึง 1000 ภาพภายใน 1 ปี

เอาเข้าจริง บางคน 2-3 เดือนก็ทำได้แล้ว

การที่ส่งภาพไปแล้วภาพผ่านจำนวนมาก นั่นคือ sign ที่ดีว่าเราเริ่มพัฒนาขึ้นแล้ว ทักษะนี้เป็นทักษะเฉพาะตัวที่เราต้องสร้างเองจากการทำงาน และแต่ละคนก็ต้องใช้เวลาและความสามารถ มากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานเดิมที่เรามีว่าใกล้เคียงกับงาน stock แค่ไหน

สิ่งที่เราจะเจอในระหว่างนี้ คือความสงสัยว่า ทำไมภาพที่คุณภาพดีเท่า หรือมากกว่างานที่เราเคยส่ง แต่บางครั้งกลับไม่ผ่านด้วยข้อหาพื้นๆ อย่างไม่น่าโดน เช่นตกข้อหาโฟกัส ทั้งที่ใช้รูรับแสงแคบมากพอแล้ว (f8-11) บนขาตั้งและ speed ก็มากพอไม่มีการสั่นไหวแน่ๆ ทำไม ?

หลายครั้งทำให้เกิดความไม่พอใจ ว่าคนตรวจให้ตกข้อหาที่มันขัดแย้งกับภาพมาได้ยังไง ?

ขอให้ทำความเข้าใจว่า คนตรวจภาพแต่ละคนมีวิจารณญาณต่างกัน ไม่ได้ตรวจภาพของเราคนเดียว และเราก็ไม่รู้ด้วยสิว่าคนื่นๆจากทั้งโลกเค้าส่งภาพอะไรกันไปให้เค้าตรวจบ้าง

ถ้าเราส่งภาพดอกกุหลาบบนพื้นขาวไป ลองเดากันดูเล่นๆครับ ว่าดอกไม้ยอดนิยมที่เป็นสากลโลกนี้ คิดว่าจะมีคนส่งเหมือนเราไหม ? มี และน่าจะเยอะมากในทุกวันด้วย ถ้าบังเอิญคนตรวจ ได้ตรวจดอกกุหลาบเข้าไปแล้วเป็นร้อยๆดอก แล้วมาเจอกุหลาบของเราอีก มันจะง่ายมากที่เค้าจะไม่เอา เพราะวันนี้มีเข้าไปเยอะมากแล้ว มันคือ "ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้”

และเพราะมันควบคุมไม่ได้ มันจึงป่วยการและเสียเวลาเปล่า ผมจะไม่เสียเวลามาสนใจมันมากนัก ยิ่งถ้าภาพที่เราส่งไป เป็นภาพพื้นๆไก่กาที่หาถ่ายได้ทั่วไป ก็แปลว่าคนอื่นก็สามารถถ่ายมาส่งได้ง่ายๆเหมือนกัน ก็จงช่างมันแล้วไปหาอะไรถ่ายเพิ่มครับ

ยิ่งเราทำมา เราก็จะเรียนรู้มาก พอเราเรียนรู้มาก รู้มากขึ้น เข้าใจตลาดมากขึ้นเราก็จะพัฒนามากตาม จนถึงจุดที่ส่งอะไรไปก็ผ่าน เพราะถ่ายและทำมาจนมีพื้นฐานแล้วว่าภาพแบบไหนผ่านยาก ผ่านง่าย และต้องทำยังไง

3. ทำยังไงให้ภาพขายได้ ?

เมื่อเราเริ่มมีความมั่นใจว่างานเรามีคุณภาพผ่านแล้ว เราจะมีภาพใน port จำนวนหนึ่ง คนที่ต้องการพัฒนาตัวเองในเส้นทางนี้ ต้องเริ่มคิดวิเคราะห์งานตัวเองต่อ ว่าเราจะพัฒนาไปยังไงต่อ

เมื่อเรามีภาพมากในระดับหนึ่ง เราจะสังเกตว่ามีบางภาพขายดบางภาพขายได้เป็นระยะ บางภาพขายได้ไม่กี่วันแล้วเงียบ กับภาพที่ได้แค่ตั้งโชว์ (ขายไม่ออก) เราต้องค้นหาและแยกภาพใน port เราให้ออกว่าภาพไหนคืองานคุณภาพดีของเรา

แนวทางเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ที่ผมทำ คือวิธีที่ผมเรียกว่า "Build Around” คือการใช้ภาพที่ขายดีอยู่แล้วของเราเป็นแกน แล้วสร้าง port ที่เชื่อมโยงกันกับภาพนั้นขึ้นมา เช่นภาพขายดีของเราเป็นภาพ เข็มฉีดยา ผมอาจจะคิดสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับยาและเข็มฉีดยาขึ้นมา

การ Build Around นั้นง่าย เพราะใช้ resouce หรือแหล่งจากภาพของเราที่มันขายได้อยู่แล้วเป็นแกน มันจะส่งให้ภาพที่ขายดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้น และภาพที่ขายดีนั้นจะทำให้ลูกค้าซื้อภาพอื่นที่เรา Build Around มันไปด้วย ข้อควรระวังคืออย่าสร้างงานที่คล้ายกับงานที่ขายดีนั้นมากเกินไปจนเป็นการแย่งตลาดกันเอง วิธีนี้มีข้อดีมากๆ ข้อหนึ่งนั่นคือถ้าเราสร้างงานในกลุ่มเดียวกันจากการ Build Around ได้ดีมากพอ มันจะเป็นฐานรายได้ให้เราได้นานจากการมีภาพ Set ที่ส่งเสริมกันและกัน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 3-6 เดือนในการค่อยๆทยอยสร้างแล้วให้ภาพกลุ่มที่ Build Around ขึ้นอันดับไปด้วยกันหลายๆใบ

ทีนี้พอทำไปสักพัก เรามักจะเจอทางตัน เริ่มคิดไอเดียไม่ออกว่าจะถ่ายอะไรมา Build Around อีก มันจะเกิดอาการทู่ซี้ทำต่อ แต่ขายได้ไม่มากกว่าเดิม หรือส่งไปหลังๆแล้วขายไม่ออก นั่นคือถึงเวลาที่เราต้องหาอะไรใหม่ๆทำแล้ว

มาถึงตรงนี้ ให้กลับไปมองภาพใน port เราและเรียนรู้จากตรงนั้นเยอะๆ ว่า “งานไหนขายไม่ได้” อย่าไปเสียเวลาทำแบบนั้น แต่ให้คิดว่า "ทำยังไงให้มันดีขึ้น"

แล้วจะทำให้มันดีขึ้นได้ยังไง ให้ไปดูงานขายดีครับ ว่าภาพที่ขายไม่ได้ของเรานั้น เทียบกับภาพที่ขายดี มีอะไรต่างกันบ้าง

เช่นเราถ่ายภาพส้มไปขาย แล้วมันขายไม่ออก แปลว่ามีอะไรบางอย่างที่เราขาดหายไป เมื่อเทียบกับภาพส้มที่ขายดี คืออะไร ? จัดแสงไม่สวย ? ส้มไม่สวย ? วางธรรมดาไป ? นี่คือสิ่งที่เราจะสามารถพัฒนางานที่ขายไม่ออก ให้กลายเป็นงานขายได้ขึ้นมา

ไม่ได้ให้ไปก้อบปี้งานคนอื่น แต่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อหาจุดบกพร่องในงานของเรา

ถึงจุดนี้ นั่นคือเรากำลังยกมาตรฐานการทำงานของเรา ที่แค่ “ผ่านขั้นต่ำ” ให้กลายเป็น “งานที่ดีพอที่คนจะซื้อ”

วิธีการหนึ่งที่ง่ายสำหรับการทำให้ภาพขายได้ขึ้นมา คือ “ใส่ Acting ของคนเข้าไปด้วย”

ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งครับว่า "ธุรกิจบนโลกนี้ เกี่ยวกับคนทั้งสิ้น” ไม่มีธุรกิจไหนบนโลกนี้ที่ไม่เกี่ยวกับคน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมภาพขายดีจำนวนมากมี “คน” เป็นองค์ประกอบ

และเมื่อภาพนั้นมีคนเป็นองค์ประกอบ ภาพนั้นมี “เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคน” เกิดขึ้น

ภาพจดหมายเปล่าๆ อาจจะเป็นภาพติด top ขายดีเพราะมันนำไปใช้งานง่าย ลองคิดว่าเราส่งภาพจดหมายเปล่าๆไป ขณะที่คนทั้งโลกก็ส่งเหมือนๆกัน คงขายไม่ได้ง่ายนัก แต่ถ้าเราเพิ่มเป็นจดหมายที่มีมือคนจับยื่นออกมา เพิ่มเนื้อหาให้ภาพเข้าไป เป็นการสร้างความต่างและทำให้งานขายได้ง่ายขึ้น

นี่เป็นเพียงบางไอเดียในการสร้างงาน ซึ่งไอเดียในการสร้างงานมีมากมาย และบทความที่แนะนำการต่อยอดไอเดียเยอะมาก

การรู้วิธีที่ทำให้งานมีความหลากหลายขึ้น นอกจากถ่ายมาตรงๆ ทื่อๆ คือทักษะที่จะได้จากการเรียนรู้ที่จะหาทางทำให้ภาพธรรมดาๆที่ขายไม่ได้ ขายได้ขึ้นมา การสร้างเนื้อหาให้ภาพ การพัฒนามุมมองการถ่ายให้ดีขึ้น สวยขึ้น ควบคุมคุณภาพแสง ทิศทางที่ส่งเสริมให้ภาพดูดี ฯลฯ

เราจะเริ่มแยกแยะว่า สิ่งที่กำลังจะถ่ายเนี่ย มันจะขายได้มั้ย จากเดิมที่เจออะไรก็ถ่ายส่งไปหมด เริ่มได้เรียนรู้ ว่าอะไรขายได้ อะไรขายไม่ได้ ทำให้เราเริ่มวางแผนการทำงานว่าจะหาถ่ายอะไรเพิ่มเพื่อส่งเสริมงานให้ดีขึ้น โฟกัสถูกเรื่องถูกจุด และไม่ไปเสียเวลาถ่ายอะไรที่ขายไม่ได้

**ไม่จำเป็นต้องนั่งทำทุกอย่างในพอร์ทเราให้มันขายได้ แต่จงเลือกสิ่งที่มันน่าจะขายได้ขึ้นมาทำ

4. ทำยังไงให้ภาพขายดี ?

มาถึงหัวข้อสุดท้าย ที่เป็นกำแพงที่ยากที่สุด หนาที่สุด และต้องใช้ความพยายามมากที่สุดเช่นกัน และเป็นจุดที่ทุกคนอยากจะไปถึง และเผลอๆ ทุกคนก็รู้อยู่แล้วด้วยว่าต้องยังไง

คนที่ทำมาซักระยะจะเคยทำอย่างหนึ่งเหมือนๆกัน คือการไปดูภาพ popular ว่ามีงานของเราขึ้นไปบ้างไหมและที่มีอยู่น่ะ มีอะไรบ้าง

การไปดูงานคนอื่นที่ขายดีแล้วทำตาม เป็นสิ่งที่ผมไม่แนะนำด้วยประการทั้งปวง แต่ผมสนับสนุนให้เข้าไปดู "เพื่อศึกษา" แล้วสร้างงานให้ออกมาแตกต่าง และดีกว่าเค้าครับ เพราะการสร้างงานโดยการเลียนแบบคนอื่นนั้น ใช่ครับมันขายได้ แต่เราจะไม่มีวันมีงานที่ขายดีจริงๆขึ้นมาได้เลย ถ้าไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้

เราจะต้องวิจัยอย่างหนัก ต้องเรียนรู้ว่าการทำงาน สร้างงานอย่าง professional เค้าทำยังไง

ถ้าจะถ่ายอาหาร ต้องศึกษาวิธีทำยังไงให้อาหารใหม่ สด สวย ความรู้จาก food stylist จำเป็นมาก โต๊ะอาหารจัดยังไง จานชามช้อนส้อม ควรเป็นยังไง ผ้าปูลายเข้ากันมั้ย อาหารไทย ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ทุกองค์ประกอบสำคัญหมด แสง สี อารมณ์ภาพแบบไหนที่เกื้อกูลให้ภาพโดดเด่น เลิกคิดเรื่องซื้อข้าวเย็นเป็นส้มตำข้าวเหนียวไก่ย่างมาวางๆด้วยถ้วยกากๆในครัวถ่ายส่งง่ายๆได้เลย

ถ้าจะถ่ายคน theme ครูสอนพิเศษนักเรียน เนื้อหาคือสอนวิชาอะไร สอนภาษาอังกฤษครูก็ควรเป็นฝรั่งหรือลูกครึ่ง ชายหรือหญิง การแต่งกาย เสื้อผ้า หน้าผม ทางการหรือลำลอง แต่งหน้ายังไง ต้องจ้างแบบมั้ย กี่คน จ้างช่างแต่งหน้ามั้ย เช่าชุดมั้ย สถานที่ล่ะ เช่าสตูฯ หรือหาออฟฟิศเช่าถ่าย ถ่ายเวลาไหน แสงธรรมชาติหรือจัดแสง จ้างมาแล้ว ลงทุนมาแล้ว ถ่ายมาต้องดีพอที่จะทำเงินให้คุ้มทุน คุมคุณภาพการถ่ายได้มั้ย แก้ปัญหาหน้างานที่มีเวลาจำกัดได้รึเปล่า ต้องได้กี่ช้อต ได้มีส่งงานกี่ภาพ ฯลฯ

ถ้าเป็นสายรีทัช เนื้อหาต้องโดน การสื่อสารต้องชัดเจน ต้องสวย ใช้งานง่าย ภาพมีพลัง ศึกษาเรื่อง perspective สีและการสร้าง impact ลงบนภาพ resource ต้องถ่ายมาสวยมีคุณภาพดี ไม่ควรงกกับการลงทุนเพื่อหาความรู้ เพราะมันคือทางลัดที่ช่วยให้เราสร้างงานเป็นในเวลาอันสั้น

ฟังดูแล้ว มันยากเนอะ ยุ่งเนอะ ใช่ครับ เพราะมันยากนี่แหละ คนที่ทำได้ถึงได้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะงานยาก คนส่วนใหญ่จะไม่ทำและวิ่งหาทำแต่งานง่ายๆ และทำกันเยอะแยะเต็มไปหมดทั้งๆที่ความต้องการของงานง่ายๆ มันน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ส่งไปขายที่มากจนล้นตลาด

ทุกๆขั้นตอนของความยุ่งยาก ทุกๆขั้นตอนที่เราสร้างความแตกต่างลงไปในเนื้องาน คือการกรองคู่แข่งเราให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ยิ่งงานยาก คู่แข่งยิ่งน้อย และยิ่งขายดี

คนจำนวนมากมาไม่ถึงจุดนี้ และย่ำอยู่แต่กับการถ่ายงานง่ายๆส่งไปเรื่อยๆแล้วหวังว่ามันจะฟลุ้คติด pop ผมอยากจะบอกว่า “หมดยุคของงานง่ายแล้วครับ” ตอนนี้คนทั้งโลกรู้จักงาน stock และคนทำหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน นั่นหมายถึงตัวหารเพิ่มขึ้นทุกวัน ถ้าเรายังย่ำอยู่กับการทำงานง่ายๆส่งต่อไป ย่อมไปไม่ถึงไหนกับโลกที่หมุนเร็วขึ้นตลอดเวลา

หลายคนคิดว่า การจะทำได้นั้นต้องเก่ง ต้องมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว หลายคนบอกว่าผมมีความสามารถพิเศษไม่เหมือนใครถึงทำได้ขนาดนี้

ผมอยากบอกว่า ไม่จริง

ผมเองก็เคยผ่านจุดที่สอบไม่ผ่านมาแล้ว ผมส่งอยู่สามครั้งถึงผ่าน
1,000 ภาพแรกของผม เป็นขยะซะกว่า 95% ทุกวันนี้มีเหลือแค่ไม่ถึง 5% ที่ยังพอขายได้อยู่บ้าง
ผมเริ่ม Build Around งาน 5% ที่ว่านี้อยู่เกือบปี และฉีกออกมาถ่าย และทำงานยากๆโดยไปแข่งกับพวกที่ขายดีตามหมวด ลองผิดลองถูก จนมาเจอแนวทางของตัวเองที่ไปได้ดี

ผมมาเจอว่าสิ่งที่ทำให้คนที่ทำได้ดีต่างจากคนอื่นคือ “เราสนใจอะไร”
ถ้าเราเปิดไปดูงานคนอื่นที่เก่งๆ แล้วคิดว่า “แม่งเก่งว่ะ ไม่มีปัญญาสู้” เราก็จะไม่มีปัญญาไปสู้เค้าจริงๆ เพราะไม่ทันทำอะไรก็ยอมแพ้แล้ว แต่ถ้าเราคิดกลับกันว่า “เค้าทำยังไงงานถึงออกมาเป็นแบบนี้นะ” ทิศทางความคิดเราจะเปลี่ยนไป เราจะเริ่มค้นหาเรียนรู้ว่าทำยังไงให้ได้งานที่ “ใกล้เคียงกัน” ออกมา และหาทางพัฒนามันจนไปสู้เค้าได้

กำแพงที่ข้ามได้ยากที่สุดคือกำแพงที่ชื่อว่า ตัวเราเอง ครับ


ขายรูปออนไลน์
สมัครเป็นคนขายภาพคลิกเลย
บทความดีจาก --> https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1029133170440001&set=gm.1625427111046858&type=3&theater
กลุ่ม Shutterstock Thailand Contributors

ไม่มีความคิดเห็น